English Deutsch Français Italiano Español Português 繁體中文 Bahasa Indonesia Tiếng Việt ภาษาไทย
หมวดหมู่ทั้งหมด

บ้านเราทำเอททานอลจากมันสำปะหลัง
อเมริกา บราซิล ทำจากข้าวโพด
อยากทราบข้อแตกต่างเช่น ต้นทุน วิธีการผลิต
คุณภาพ เป็นต้น

2007-12-30 13:48:43 · 2 คำตอบ · ถามโดย Nick 6 ใน วิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ เกษตรกรรม

2 คำตอบ

เอทานอลเป็นแอลกอฮอล์ชนิดหนึ่งซึ่งเกิดจากการหมักพืช เศษซากพืช ได้แก่ อ้อยน้ำตาล กากน้ำตาล กากอ้อย บีทรูท (หัวผักกาดหวาน) แป้ง มันสำปะหลัง มันเทศ ธัญพืชต่างๆ เช่น ข้าวโพด ข้าว ข้าวสาลี ข้าวบาร์เลย์ ข้าวฟ่าง เพื่อเปลี่ยนแป้งจากพืชให้เป็นน้ำตาลแล้วเปลี่ยนจากน้ำตาลเป็นแอลกอฮอล์อีกครั้ง แอลกอฮอล์ที่ทำให้บริสุทธิ์ 95% จะเรียกว่า เอทานอล (Ethanol)
จากรายงานของผู้ผลิตรายใหญ่พบว่าผลผลิตเอทานอลที่ได้จากวัตถุดิบ คือ พืชชนิดต่างๆ จำนวน 1 ตัน เมื่อผ่านขบวนการผลิตจะได้ผลผลิตเอทานอลที่แตกต่างกัน

-ใช้วัตถุดิบประเภทธัญพืช ข้าว ข้าวโพด
จะได้เอทานอลสูงถึงจำนวน 375 ลิตร
-ใช้หัวมันสดจะได้เอทานอล 180 ลิตร
-ใช้กากน้ำตาลจะได้เอทานอลจำนวน 260 ลิตร

จากการศึกษาสถานภาพของวัตถุดิบที่นำมาใช้ในการผลิตน้ำมันก๊าซโซฮอล์ ซึ่งดำเนินการโดยสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ประกอบกับแผนยุทธศาสตร์มันสำปะหลังและแผนพัฒนาการผลิตอ้อยปี 2545-2549 ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และในการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2545 และการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อ 14 พฤษภาคม 2545 ได้มีมติรับทราบตามข้อสรุปในด้านวัตถุดิบสำหรับผลิตเอทานอล ดังนี้

1. พืชที่เหมาะสมสำหรับการนำมาใช้เป็นวัตถุดิบผลิตเอทานอลมากที่สุดคือ มันสำปะหลัง ซึ่งมีปริมาณส่วนเกินของตลาดประมาณ 4 ล้านตัน ต่อปี สามารถผลิตเอทานอลได้ประมาณ 2 ล้านลิตร ต่อวัน

2. การใช้อ้อยเป็นวัตถุดิบผลิตเอทานอลไม่เหมาะสม เพราะปริมาณการผลิตอ้อยยังไม่เพียงพอกับความต้องการของอุตสาหกรรมน้ำตาล

3. กากน้ำตาลสามารถนำมาใช้เป็นวัตถุดิบผลิตเอทานอลได้เฉพาะส่วนที่เหลือจากการบริโภค ซึ่งมีประมาณ 0.8 ล้านตัน ต่อปี ผลิตเอทานอลได้ประมาณ 600,000 ลิตร ต่อวัน

จากข้อมูลดังกล่าวข้างต้นแสดงให้เห็นว่า ประเทศไทยมีศักยภาพในด้านวัตถุดิบอย่างเพียงพอที่สามารถผลิตเอทานอลได้เกือบ 3 ล้านลิตร ต่อวัน โดยไม่มีการขยายพื้นที่เพาะปลูก ซึ่งมากเกินความต้องการใช้เอทานอลในระยะแรกที่คาดว่าจะไม่เกิน 1 ล้านลิตร ต่อวัน เพื่อนำไปผสมในน้ำมันเบนซินแทนการใช้สาร MTBE สำหรับการผลิตน้ำมันเบนซินออกเทน 95

การผลิตเอทานอลจากมันสำปะหลัง
การแปรรูปมันสำปะหลังเป็นมันเส้นสามารถทำได้โดยนำหัวมันสดที่เก็บเกี่ยวแล้วนำส่งเข้าสู่เครื่องโม่ เพื่อหั่นหัวมันสำปะหลังสดให้เป็นชิ้นที่มีขนาดเล็ก จากนั้นจึงนำไปตากแดดบนลานคอนกรีตประมาณ 3-4 วัน เพื่อลดความชื้นในหัวมัน เป็นการยืดอายุการเก็บรักษา โดยระหว่างการตากจะต้องกลับมันเส้นเพื่อให้ความชื้นระเหยได้อย่างทั่วถึง จนเมื่อความชื้นได้ระดับมาตรฐานแล้ว จึงนำไปใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตเอทานอล

เอทานอล (Ethanol) หรือ เอทิลแอลกอฮอล์ (Ethyl Alcohol) ที่ผลิตจากพืช เช่น มันสำปะหลัง อ้อย และกากน้ำตาล ในกระบวนการผลิต หากใช้วัตถุดิบประเภทแป้ง และเซลลูโลส จะต้องนำมาย่อยให้เป็นน้ำตาลก่อน โดยการใช้กรด แบคทีเรีย หรือเอ็นไซม์ ส่วนวัตถุดิบที่เป็นน้ำตาลสามารถนำมาหมักกับเชื้อยีสต์ได้เลย ใช้เวลาในการหมักประมาณ 2-3 วัน (กรณีเป็นการหมักแบบชั่วคราว หากหมักแบบต่อเนื่องจะใช้เวลาน้อยกว่านี้) จะได้แอลกอฮอล์ที่ความเข้มข้นประมาณร้อยละ 8-12 โดยปริมาตร จากนั้นนำไปกลั่นแยกแบบลำดับส่วน จะได้แอลกอฮอล์ที่ความเข้มข้นร้อยละ 95 โดยปริมาตร ในกรณีที่ต้องนำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงผสมก๊าซโซฮอล์ และดีโซฮอล์ จะต้องแยกส่วนน้ำออกอีกประมาณร้อยละ 5 โดยปริมาตร โดยวิธีการกลั่นกับสารตัวที่สาม หรือแยกด้วยเครื่องโมเลกคูลาชีฟ (molecular sieve) หรือเครื่องแยกระบบเมมเบรน
มันเส้นและหัวมันสดต้องนำมาบดให้ละเอียดก่อน โดยมันสดต้องปอกเปลือกและล้างน้ำก่อนบดให้ละเอียด ส่วนมันเส้นให้แยกสิ่งเจือปน (ทราย) ออกก่อนบด เมื่อบดแล้วจะใช้วิธีการเดียวกัน คือเปเลี่ยนแป้งเป็นน้ำตาลโดยใช้เอมไซม์ ย่อยแป้ง เติมน้ำและน้ำส่าแล้วจึงหมักด้วยยีสต์เพื่อเปลี่ยนน้ำตาลเป็นเอทานอล แล้วจึงนำไปกลั่นภายใต้ความดัน ตามด้วยการแยกน้ำส่าเพื่อให้ได้เอทานอล 99.5 %
การผลิตจากมันเส้นน่าจะสะดวกกว่าเพราะลดขั้นตอนการปอกล้าง แต่ในแง่ของต้นทุนการผลิตก็ต้องคำนึงถึงปริมาณความพอเพียงของวัถตุดิบและราคาเป็นสำคัญ

โรงงานต้นแบบผลิตแอลกอฮอล์จากวัตถุดิบมันสำปะหลังของสถาบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย มีขั้นตอนการผลิตเอทานอลไร้น้ำด้วยวิธีการกลั่นกับสารตัวที่สาม และมีกำลังการผลิตวันละ 1,500 ลิตร โดยใช้หัวมันสำปะหลังสด วันละประมาณ 10 ตัน มันสำปะหลังจำนวน 6 กิโลกรัม สามารถผลิตเอทานอลได้ 1 ลิตร
ความก้าวหน้าเกี่ยวกับการปรับปรุงพันธุ์มันสำปะหลังเพื่อการผลิตเอทานอล พบว่า ปริมาณเอทานอลที่ได้ขึ้นอยู่กับปริมาณแป้งในหัวสด พันธุ์ที่ให้ปริมาณแป้งในหัวสดสูง เมื่อหมักแล้วจะได้ปริมาณเอทานอลสูงด้วย และจากการทดลองร่วมกันระหว่างศูนย์วิจัยพืชไร่ระยอง สถาบันวิจัยพืชไร่ กรมวิชาการเกษตร และสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ พบว่า มันเส้นที่ได้จากมันสำปะหลังอายุเก็บเกี่ยว 18 เดือน เป็นวัตถุดิบที่เหมาะสมกับการผลิตเอทานอล โดยการใช้ร่วมกับยีสต์สายพันธุ์ Saccharomyces cerevisiae TISTR 5596 โดยไม่ต้องเพิ่มสารอาหาร สำหรับความแตกต่างระหว่างสายพันธุ์มันสำปะหลัง พบว่า มันสำปะหลังสายพันธุ์ 196 และ 199 ให้ปริมาณเอทานอลเข้มข้นกว่ามันสำปะหลังสายพันธุ์อื่น ๆ อีก 5 สายพันธุ์ จากผลการทดลองนี้มันสำปะหลังสายพันธุ์ 199 ควรจะได้รับการแนะนำเป็นมันสำปะหลังพันธุ์ที่เหมาะกับการผลิตเอทานอลต่อไป
เทคโนโลยีต้นแบบกลั่นเอทานอลด้วยเทคนิคปั๊มฟอง http://www.technologymedia.co.th/column/columnview.asp?id=199

การกลั่นในช่วงแรกจะได้เอทานอลเข้มข้นร้อยละ 40 หลังจากนั้นจะนำไปกลั่นต่อเพื่อให้เอทานอลที่มีความเข้มข้นร้อยละ 95 จากนั้นจึงเป็นขั้นตอนการจำกัดน้ำที่เหลือออกด้วยเครื่อง Membrane เมื่อได้เอทานอลที่มีความบริสุทธิ์ 99.5 แล้วจึงนำมาตรวจวิเคราะห์คุณภาพเอทานอลในห้องปฏิบัติการจนสามารถนำไปผสมกับน้ำมันเบนซินได้อย่างมีประสิทธิภาพ

**เมื่อผลิตเอทานอลได้ เราขอยกเว้นภาษีสรรพสามิต ขอยกเว้นเก็บเข้ากองทุนน้ำมันและกองทุนอนุรักษ์พลังงาน ทำให้เอทานอลมีแต้มต่อ เมื่อนำไปผสมกับน้ำมัน จะจำหน่ายได้ถูกกว่าน้ำมันทั่วไปลิตรละ 50-70 สตางค์

ปัจจุบันมีโรงงานผลิตเอทานอล 4 โรง รัฐบาลอยากให้รายย่อยทำ เพื่อต้องการกระจาย แต่ปัญหาต้นทุนสูง โรงงานแสนลิตรต่อวัน ต้นทุน 800 ล้านบาท หาก 5 หมื่นลิตร 500 ล้านบาท แต่หากผลิตน้อยไม่คุ้ม ต่อไปหากมีเทคโนโลยีที่ไทยผลิตได้ การผลิตของเกษตรกรอาจเป็นไปได้ค่ะ

การผลิตเอทานอลจากข้าวโพด
ผลิตเอทานอลจากข้าวโพดใช้แค่เพียงเอ็นไซม์อะไมเลส (amylase) ทำการย่อยสลายแป้งในข้าวโพดเป็นน้ำตาลกลูโคสด้วยวิธีเดียวกับการผลิตเอทานอลจากน้ำอ้อย จากนั้นก็ใช้ยีสต์หมักน้ำตาลกลูโคสให้เป็นเอทานอลตามธรรมชาติ ในทางกลับกันเมื่อใช้ชีวมวล อย่างเช่น ต้นหญ้า ฟางข้าว ซังข้าวโพด เศษไม้และใบไม้ จะต้องแยกน้ำตาลเซลลูโลสออกจากเฮมิเซลลูโลส (ซึ่งประกอบด้วยน้ำตาลไซโลส (xylose) และน้ำตาลที่ประกอบด้วยคาร์บอน 5 ตัว) และลิกนินซึ่งเป็นตัวเชื่อมต่อน้ำตาลโพลิเมอร์ทั้งสองชนิดข้างต้นออกจากกัน จากนั้นทำการย่อยน้ำตาลโพลิเมอร์ให้เป็นน้ำตาลโมเลกุลเดี่ยวเพื่อหมักด้วยจุลินทรีย์ให้เป็นเอทานอลต่อไป ตามปกติแล้วยีสต์จะไม่มีคุณสมบัติหมักน้ำตาลไซโลสและน้ำตาลที่ประกอบด้วยคาร์บอน 5 ตัว (five-carbon sugars) ให้เป็นเอทานอลได้ จึงมีการทดลองใช้แบคทีเรีย E.Coli เป็นตัวช่วยหมักแต่พบว่าเกิดผลพลอยได้เป็นกรดอะซิติกและกรดแลคติก (acetic and lactic acids) เท่าที่ผ่านมา E.Coli สามารถผลิตเอทานอลได้สูงสุดอยู่ที่ 6.4% วิธีนี้มีการจดลิขสิทธิ์กับบริษัท Celunol จากมลรัฐหลุยส์เซียน่าเพื่อผลิตเซลลูโลสิกเอทานอลจำนวน 1.4 ล้านแกลลอนต่อปี นักวิจัยรุ่นต่อๆมาได้ลองใช้แบคทีเรียตัวอื่นคือ Zymomonas mobilis ซึ่งสามารถเพิ่มผลผลิตได้ถึง 10% และกำลังอยู่ในขั้นตอนปรับปรุงการผลิตในเชิงพาณิชย์ นอกจากนั้นนักวิจัยยังพยายามตัดต่อพันธุกรรมให้ยีสต์มีคุณสมบัติสามารถหมักแปรรูปเซลลูโลสิกเอทานอลได้ซึ่งศาสตราจารย์ Nancy Ho จากมหาวิทยาลัยเปอร์ดิว แห่งเวสต์ ลาฟาแยต มลรัฐอินเดียนน่า ประสบความสำเร็จในการปรับปรุงสายพันธุ์ยีสต์ให้สามารถหมักเซลลูโลสิกเอทานอลได้เป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2536

ปัญหาของการหมักแปรรูปเซลลูโลสิกเอทานอลไม่ได้ขึ้นอยู่กรรมวิธีและจุลินทรีย์ที่ใช้ในการหมักอย่างเดียว เซลลูโลสิกเอทานอลใช้ระยะเวลาการหมัก 1-2 วันนับว่าช้ามากเมื่อเทียบกับการหมักเอทานอลจากข้าวโพดที่กินเวลาเพียงไม่กี่ชั่วโมง นักวิจัยทั่วโลกจึงปรับปรุงเร่งรัดการผลิตและแปรรูปเอทานอลโดยเริ่มตั้งแต่การใช้กรดอ่อนๆและไอน้ำเร่งปฏิกิริยาไปจนถึงการใช้สารแอมโมเนีย ณ อุณหภูมิต่ำซึ่งสามารถนำสารแอมโนเนียกลับมาใช้อีกได้จึงลดต้นทุนของการผลิตเอทานอลได้ 40 เซ็นต์ต่อแกลลอน อย่างไรก็ตามสำหรับการแปรรูปเศษไม้ที่มีปริมาณลิกนินสูงยังไม่มีวิธีที่มีประสิทธิภาพเพียงพอ

นักวิจัยพยายามสรรหาวิถีทางอื่นๆ เช่น การตัดต่อสายพันธุกรรมพืชให้ได้ปริมาณเซลลูโลสเพิ่มขึ้น Vincent Chiang นักชีววิทยาด้านโมเลกุลและเคมีอินทรีย์จากมหาวิทยาลัยนอร์ทแคโรไลน่า สเตท สามารถตัดต่อสายพันธุกรรมต้น Poplar ให้มีปริมาณลิกนินน้อยลง 50% และเพิ่มอัตราส่วนของเซลลูโลสซึ่งทำให้ได้ปริมาณเอทานอลในการผลิตมากขึ้น และมีการวิจัยศึกษาสายพันธุกรรมพืชที่มีผลต่อควบคุมโครงสร้างผลึก (crystallinity) ของเส้นใยเซลลูโลสเพื่อแสวงหาหนทางย่อยสลายเซลลูโลสเป็นน้ำตาลโมเลกุลเดี่ยวคือกลูโคสได้ง่ายขึ้น ซึ่งจะทำให้ลดปริมาณเอ็นไซม์ช่วยย่อยและลดต้นทุนในที่สุด นักวิจัยพลังงานชีวภาพอื่นๆก็ได้ใช้วิธีเดียวกันในการตัดต่อพันธุ์หญ้า เช่น switchgrass และ Miscanthus ให้มีปริมาณลิกนินน้อยลง

การวิจัยส่วนใหญ่มีจุดประสงค์เพื่อลดต้นทุนการผลิตเซลลูโลสิกเอทานอลซึ่งในปัจจุบันมีค่าใช้จ่าย 3-4 เหรียญสหรัฐฯต่อแกลลอน และเมื่อมีการจัดตั้งโรงงานผลิตเซลลูโลสิกเอทานอลในเชิงพาณิชย์แห่งแรกในปี พ.ศ. 2552 คาดว่าต้นทุนการผลิตจะเหลือเพียง 2 เหรียญสหรัฐฯต่อแกลลอน อย่างไรก็ตามกระทรวงพลังงานสหรัฐฯตั้งเป้าหมายลดต้นทุนการผลิตอยู่ที่ 1.07 เหรียญสหรัฐฯซึ่งจะสามารถแข่งขันได้กับราคาต้นทุนการผลิตเอทานอลจากข้าวโพด อย่างไรก็ตามราคาต้นทุนการผลิตเอทานอลจากข้าวโพดก็ลดลงเรื่อยๆด้วยการวิจัยพัฒนาเอ็นไซม์ที่ช่วยย่อยแป้งให้มีประสิทธิภาพดีขึ้น

USA มีผผลิตข้าวโพดมากกว่า อ้อย แต่ประเทศไทยผลิตมันสำปะหลังได้มากพอเพียงที่สุด จึงเป็นปัจจัย
ที่จะเลือกใช้มันสำปะหลังค่ะ
ขณะนี้มีโรงงานผลิตเอทานอลในสหรัฐฯ จำนวน 97 แห่ง โดยสามารถผลิตเอทานอลจากข้าวโพดได้ประมาณ 4.5 พันล้านแกลลอนต่อปี และอยู่ระหว่างการก่อสร้างเพิ่มเติมอีก 33 แห่ง ซึ่งจะเพิ่มขีดความสามารถของสหรัฐฯ ในการผลิตเป็น 6.4 พันล้านแกลลอนต่อปีในอนาคตอันใกล้

เรื่องคุณภาพของเอทานอลจากวัตถุ อาจจะแตกต่างด้านการให้พลังงานสูงไม่เท่ากันเช่นเอทานอลของบราซิลที่ผลิตจากอ้อยให้พลังงานสูงกว่าเอทานอลจากข้าวโพดของอเมริกา แต่ข้อที่ควรคำนึงถึงก็คือปริมาณวัตถุดิบที่นำมาใช้ผลิตต้องพอเพียงและไม่กระทบต่อการใช้งานในประเทศมากกว่า เอทานอลแต่ละชนิดเมื่อผ่านการผลิตที่ถูกต้องย่อมได้คุณภาพของเอทานอลดีเท่าเทียมกัน แต่จะแตกต่างที่ต้นทุนการผลิตและวิธีการมากกว่าค่ะ

2007-12-30 18:38:38 · answer #1 · answered by กระจกใส 7 · 0 0

โดยทั่ว ๆ แล้ว จะจัดพืชเพื่อเข้ากระบวนการผลิตเอทานอลเป็น 5 กลุ่มด้วยกัน คือ กลุ่มพืชที่ทำน้ำตาล กลุ่มพืชที่มาทำแป้ง กลุ่มธัญพืช กลุ่มวัชพืช และกลุ่มยืนต้น

การจะใช้พืชกลุ่มไหนมาเข้ากระบวนการผลิต ก็ขึ้นอยู่กับภูมิประเทศ กระบวนการผลิต ผลผลิตจากพืชกลุ่มใดก็ตาม เมื่อได้ออกมาเป็นแอลกฮออล์แล้ว จะมีคุณสมบัติที่ไม่แตกต่างกัน

ในกระบวนการผลิต หากใช้วัตถุดิบประเภทแป้ง และเซลลูโลส จะต้องนำมาย่อยให้เป็นน้ำตาลก่อน โดยการใช้กรด แบคทีเรีย หรือเอนไซม์ ส่วนวัตถุดิบที่เป็นน้ำตาลในรูปที่เหมาะสมสามารถ
นำมาหมักกับเชื้อยีสต์ได้เลย ใช้เวลาในการหมักประมาณ 2-3 วัน กรณีเป็นการหมักแบบชั่วคราว
หากหมักแบบต่อเนื่องจะใช้เวลา 36 ชั่วโมง จะได้แอลกอฮอล์ (เอทานอล) ที่ความเข้มข้นประมาณร้อยละ 8-12 โดยปริมาตร จากนั้นนำไปกลั่นแยกแบบลำดับส่วน จะได้แอลกอฮอล์ที่ความเข้มข้นร้อยละ 95 โดยปริมาตร

ปริมาตรผลผลิตเอทานอลจากวัตถุดิบชนิดต่างๆ
มันสำปะหลัง 1 ตัน ผลิตเอทานอลได้ 155 ลิตร
อ้อย 1 ตัน ผลิตเอทานอลได้ 70 ลิตร
กากน้ำตาล 1 ตัน ผลิตเอทานอลได้ 250 ลิตร
ข้าวฟ่าง 1 ตัน ผลิตเอทานอลได้ 70 ลิตร
ธัญพืช (เช่น ข้าว ข้าวโพด) 1 ตัน ผลิตเอทานอลได้ 375 ลิตร
น้ำมันมะพร้าว 1 ตัน ผลิตเอทานอลได้ 83 ลิตร

แอลกฮออล์ที่ผ่านกระบวนการผลิต เพื่อที่จะนำมาใช้งานในเชิงพาณิชย์นั้น จะเป็นแอลกฮออล์ที่เรียกว่า แอลกฮออล์ 95 % ก็หมายความว่าในร้อยส่วน จะเป็นน้ำ 5 ส่วน อีก 95 ส่วนคือแอลกฮออล์

แอลกฮออล์ที่นำมาใช้งานเป็นเชื้อเพลิงนั้น จะถูกเรียกว่า Fuel Ethanol ในปัจจุบันเป็นแบบ 95% และ 99.5% แอลกฮออล์ หรือ Fuel Ethanol 95 % จะได้จากขบวนการกลั่นแบบธรรมดา แต่สำหรับอีทานอลชนิด 99.5 % นั้น จะต้องมีขบวนการเพิ่มเติมขึ้นมา ก็ทำได้ 2 วิธีคือ การเติมสารเคมีและนำมากลั่นใหม่ (Azeotropic Distillation)ก็จะได้เอทานอลบริสุทธิ์ 99.5 % (มีน้ำผสมอยู่ 0.5 %) หรือ อีกวิธีหนึ่งคือการใช้สารดูดความชื้น (Molecular Sieve Absorbtion) ก็จะได้เอทานอล 99.5 % เช่นกัน

ในการที่จะนำเอาเอทานอลมาใช้เป็นเชื้อเพลิง หรือผสมกับเชื้อเพลิง ปัจจุบันก็แบ่งออกเป็นหลายชนิด มีรหัสเรียกแตกต่างกัน อย่างแรกจะถูกเรียกว่า Low blend Gasohol หรือ Low blend diesohol หรือ E10 มีความหมายว่า ในน้ำมันเชื้อเพลิงนั้นจะมี อีทานอล 10%และน้ำมันเชื้อเพลิง 90%อีทานอลแบบ E10นี้ สามารถที่จะนำมาใช้กับเครื่องยนต์ โดยไม่ต้องมีการปรับแต่ง หรือ ติดตั้งอุปกรณ์เพิ่มเติม แต่เมื่อเทียบกันลิตรต่อลิตรแล้ว E10 จะสิ้นเปลือง
น้ำมันเพิ่มขึ้น 2-3% เมื่อเทียบกับที่ใช้น้ำมันเบนซินเพียงอย่างเดียว

แบบที่สองคือ แบบที่เรียกว่า High blend เป็นแบบที่ใช้เอทานอล 85% ผสมกับน้ำมันเบนซิน 15 % หรือใช้รหัส E85 น้ำมันเอทานอล E85นี้ ถ้าจะใช้กับเครื่องยนต์จะต้องมีการออกแบบเป็นพิเศษ ปรับเปลี่ยนวัสดุหลาย ๆ อย่าง เครื่องยนต์ประเภทนี้ จึงมีชื่อเรียกโดยเฉพาะว่า FFV (Flexible Fuel Vehicle) ถ้ารถยนต์ที่ใช้ E85 นี้ จะสิ้นเปลืองน้ำมันมากกว่าน้ำมันเบนซินปกติร้อยละ 14

ชนิดที่ 3 เป็น E22 ซึ่งจะเป็นเอทานอล 22 % อีก 78% จะเป็นน้ำมันเบนซิน E95 diesohol (95%Ethanol 5%Diesel fuel) ใช้กับเครื่องยนต์ดีเซลสองจังหวะ ที่ต้องมีการปรับปรุงเครื่องยนต์และ E95ยังสามารถใช้ได้กับเครื่องยนต์ดีเซล4จังหวะ แต่ก็ต้องเพิ่มสารปรับปรุง (Cetane Improver) ค่าของ Cetane Number เพื่อให้เหมาะสมกับการทำงานของเครื่องยนต์ และชนิดสุดท้ายจะเป็นชนิดที่ใช้เอทานอล 100% ที่เรียกว่า Neat

สรุปได้ว่า Ethanol หรือ Gasohol ชนิด E10 สามารถที่จะใช้ได้กับเครื่องยนต์เบนซินทุกชนิด ที่มีใช้งานอยู่ในบ้านเรา โดยไม่ต้องปรับปรุง เปลี่ยนแปลง เพิ่มเติมใด กับอุปกรณ์ของเครื่องยนต์ และไม่ว่าจะใช้เป็นระยะเวลาที่ยาวนาน หรือ ใช้งานหนักอย่างสมบุกสมบัน การสึกหรอของเครื่องยนต์ ก็ไม่ได้เพิ่มมากขึ้นกว่าปกติ ที่ใช้น้ำมันเบนซินอย่างเดียว

จากผลทดสอบ ข้อด้อยของ E10 มีอยู่ข้อเดียว ซึ่งเป็นคุณสมบัติของเอทานอลข้อหนึ่งก็คือ เอทานอลจะละลายน้ำได้ ถังน้ำมันเชื้อเพลิงของยานพาหนะจึงต้องไม่มีน้ำผสม เพราะถ้ามีน้ำอยู่ในระบบ น้ำจะเป็นตัวดึงเอทานอลให้แยกชั้นออกมารวมกันกับน้ำที่ก้นถัง แต่ปัญหานี้ก็ไม่น่าจะต้องวิตก หรือกังวลมากนักสำหรับผู้ที่ใช้ หรือคิดจะใช้เอทานอลเป็นเชื้อเพลิง เพราะถังน้ำมันของยานพาหนะทุกชนิดเป็นระบบปิด โอกาสที่จะเกิดน้ำขึ้นเองภายในถังมีน้อยมาก การใช้รถใช้ยานพาหนะก็ใช้ความระมัดระวังมากขึ้น ที่จะไม่ให้น้ำจากภายนอกเข้าไปภายในระบบเชื้อเพลิงได้ ก็ถือว่าใช้งานได้อย่างสบายใจ

2007-12-31 01:18:01 · answer #2 · answered by bejeweled 5 · 0 0